วันเสาร์ที่ 5 มกราคม พ.ศ. 2556

เขาตาปู จังหวัดพังงา




เกาะตะปู
เกาะตะปู ตั้งอยู่ในบริเวณทะเลด้านนอก ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของอุทยานแห่งชาติอ่าวพังงา คิดเป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร จากที่ทำการอุทยานฯตามลำคลองเกาะปันหยีจังหวัดพังงา อยู่ทางด้านเหนือในเวิ้งอ่าวของเกาะเขาพิงกัน เกาะตะปู มีลักษณะเป็นเกาะเดี่ยว รูปร่างคล้ายตะปู มีศัพท์เฉพาะทางธรณีวิทยาว่า เกาะหินโด่ง (Stack) การชมเกาะตะปูต้องชมในระยะไกลจากเรือ หรือจากสันดอนของเกาะเขาพิงกัน ไม่สามารถขึ้นไปบนเกาะได้


ที่มาและลักษณะ

เกาะตะปู เป็นเขาหินปูน (Limestone) มีอายุยุคเพอร์เมียน (Permian) หรือประมาณ 295-250 ล้านปี เนื่องจากหินปูนมีคุณสมบัติสึกกร่อนจากการละลายน้ำได้ง่าย ดังนั้นเกาะต่าง ๆ ในบริเวณอ่าวพังงาจึงมีรูปร่างแปลก ๆ และมีหลายรูปแบบขึ้นอยู่กับการผุพังทำลายของเนื้อหิน
กำเนิดของเกาะตะปูมีความสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำทะเลสมัยโบราณ เดิมเกาะตะปูและเกาะเขาพิงกันด้านตะวันออกมีสภาพเชื่อมต่อเป็นผืนเดียวกัน และอยู่บนผืนแผ่นดิน การเคลื่อนไหวของเปลือกโลกในเวลาต่อมา ทำให้เกิดมีรอยเลื่อนใหญ่เป็นแนวยาวพาดผ่านพื้นที่อ่าวพังงาด้านตะวันตก เรียกว่ารอยเลื่อนคลองมะรุ่ย รอยเลื่อนนี้ทำให้เกิดรอยเลื่อนย่อย ๆ ติดตามมาดังจะเห็นได้จากรอยเลื่อนที่เขาพิงกัน รอยเลื่อน รอยแตก และรอยแยกที่พบในหินปูนเกาะตะปู นอกจากนั้น รอยเลื่อนยังทำให้เกิดการหักพังของหินขึ้นในบริเวณรอยต่อระหว่างเขาตะปูและเขาพิงกันทางด้านตะวันออก ทำให้เขาตะปูแยกออกมาเป็นเขาลูกโดด
แผ่นดินเขาตะปูและเขาพิงกันได้รับอิทธิพลจากน้ำทะเลที่แผ่ขยายเข้ามาท่วมในช่วงหลังสุดเมื่อประมาณ 10,000 ปีที่ผ่านมา ทำให้พื้นที่เขาพิงกัน และเขาตะปูมีสภาพเป็นเกาะ โดยบริเวณเขาตะปูเป็นหัวแหลมยื่นออกไปในทะเล ต่อมาหัวแหลมถูกคลื่นกัดเซาะและขัดเกลา จนกระทั่งมีรูปทรงเรียวและขาดออกจากตัวเขาพิงกันตะวันออกอย่างเด่นชัด มีสภาพเป็นเกาะหินโด่ง
น้ำทะเลที่ขึ้นสูงสุดเมื่อประมาณ 6,000 ปีที่ผ่านมา มีระดับสูงกว่าระดับปัจจุบันประมาณ 4 เมตร การขึ้นลงของน้ำทะเล ได้กัดเซาะเกาะตะปูให้เกิดเป็นแนวรอยน้ำเซาะหิน เว้าเข้าไปที่ระดับดังกล่าว ต่อมาน้ำทะเลลดระดับลงมาอยู่ที่ระดับความสูงประมาณ 2.5 เมตร จากระดับน้ำทะเลปัจจุบัน ระดับน้ำทะเลใหม่ได้กัดเซาะส่วนล่างของเกาะตะปูให้เกิดเป็นรอยน้ำเซาะหินแนวใหม่ คือ ระดับที่เป็นส่วนคอดกิ่วที่สุด และเป็นบริเวณที่มีสิ่งมีชีวิตเช่น หอย เพรียง เกาะอาศัยอยู่โดยรอบเมื่อได้นำซากหอยนางรมที่ติดอยู่ในแนวรอยกัดเซาะนี้ไปหาอายุโดยวิธีคาร์บอนรังสี (C14) ได้อายุประมาณ 2,620 + 50 ปี แสดงว่ารอยคอดกิ่วนี้เกิดจากการกัดเซาะของน้ำทะเลเมื่อเวลาประมาณ 2,500 ปีที่ผ่านมา หลังจากนั้นน้ำทะเลจึงลดระดับลงมาอยู่ที่ระดับปัจจุบัน ส่วนที่คอดกิ่วที่เกิดขึ้นเมื่อ 2,500 ปีที่ผ่านมานี้เอง ทำให้เกาะตะปูมีลักษณะโดดเด่นเป็นเอกลักษณ์ และเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงของประเทศ
เกาะตะปูมีปัญหาการพังทลาย อันเกิดจากการกัดเซาะกัดเซาะของน้ำทะเล การขุดเจาะเนื้อหินเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์จำพวกหอยนางรม เพรียง ปู ฯลฯ ความแรงของคลื่นลมในฤดูมรสุม การเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมของโลก เนื่องจากปฏิกิริยาเรือนกระจกอันอาจมีผลให้คลื่นลมเปลี่ยนความเร็ว และสุดท้ายคือการ ถูกรบกวนด้วยกิจกรรมของมนุษย์ เช่น การจอดเรือโดยการทิ้งสมอการผูกเรือไว้รอบเกาะ รวมทั้งคลื่นจากเรือหางยาวที่วิ่งรอบเกาะ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น